ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

                สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำโครงการจัดตั้งสถาบันราชภัฏเพิ่มเติมจำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย สถาบันราชภัฏนครพนม สถาบันราชภัฏศรีสะเกษ สถาบันราชภัฏกาฬสินธุ์  สถาบันราชภัฏชัยภูมิ และสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด การดำเนินโครงการดังกล่าวอยู่ในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2540 – 2542 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2540 โดยในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 สถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด ได้ตราเป็นพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งลงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 118 ตอนที่ 59 ก ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 และยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยและตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏใน   ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 23 ก ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งมาตรา 8 ได้กำหนดภาระหน้าที่ของมหาวิทยาลัยไว้ดังต่อไปนี้

  1. แสวงหาความจริงเพื่อสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ บนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่นภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาสากล
  2. ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม สำนึกในความเป็นไทย มีความรักและผูกพันต่อท้องถิ่น อีกทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน เพื่อช่วยให้คนในท้องถิ่นรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การผลิตบัณฑิตดังกล่าว จะต้องให้มีจำนวนและคุณภาพสอดคล้องกับแผนการผลิตบัณฑิตของประเทศ
  3.   เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในคุณค่า ความสำนึก และความภูมิใจในวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ
  4. เรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาและนักการเมืองท้องถิ่นให้มีจิตสำนึกประชาธิปไตย คุณธรรม จริยธรรม และความสามารถในการบริหารงานพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
  5. เสริมสร้างความเข้มแข็งของวิชาชีพครู ผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง
  6. ประสานความร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างมหาวิทยาลัย ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอื่นทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
  7. ศึกษาและแสวงหาแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีพื้นบ้านและเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น รวมถึงการแสวงหาแนวทางเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
  8. ศึกษา วิจัย ส่งเสริมและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากแนวพระราชดำริในการปฏิบัติภารกิจของมหาวิทยาลัย เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

ลำดับขั้นตอนในการดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

               การดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ดเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2537 ถึง 10 มิถุนายน พ.ศ. 2540 โดยเริ่มแรกจัดตั้งเป็นโครงการจัดตั้งสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ดจนถึงปัจจุบันยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ซึ่งมีลำดับขั้นตอนในการดำเนินการจัดตั้งดังนี้

วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2537            

ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด (นายฮึกหาญ โตมรศักดิ์) แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาพื้นที่เพื่อจัดตั้งสภาบันราชภัฏร้อยเอ็ด อธิการวิทยาลัยครูบุรีรัมย์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์  เบญจกาญจน์) แต่งตั้งกรรมการร่วมในการจัดหาที่ดินจัดตั้ง สถาบันฯ ตามคำสั่ง (วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ ที่ 949/2537 ลงวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2537) แต่งตั้งคณะกรรมการจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้างสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด (ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด แต่งตั้งตามคำสั่งจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ 1915/2537 ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2537)

วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2540

คณะกรรมการจัดตั้งสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด (สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ) แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และกรรมการดำเนินงานจัดตั้งสถาบันราชภัฏเพิ่ม ตามคำสั่งสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ที่ 58/2540 ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2540

วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2540

คณะรัฐมนตรี (สมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี) ลงมติเห็นชอบโครงการจัดตั้งสถาบันราชภัฏเพิ่มตามที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏเสนอผ่านกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 5 แห่ง ให้แล้วเสร็จ ในปีงบประมาณ 2542

วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2542

คณะกรรมการจัดตั้งสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด (สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ) แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งสถาบันราชภัฏใหม่ เพื่อจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา เขตการศึกษาของสถาบันราชภัฏในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามคำสั่งสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ที่ 160/2542 ลงวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2542

วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2544

คณะรัฐมนตรีในชุดปัจจุบัน (ฯพณฯ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร) มีมติอนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันราชภัฏตามที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏเสนอผ่านกระทรวงศึกษาธิการแล้ว

 วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2544

สถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด ได้ตราเป็นพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอนที่ 59 ก ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2544

วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2545

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลย ภูมิพันธุ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด

วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2545

คณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏ มีมติอนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการสภาประจำสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี  เกษมทรัพย์ ดำรงตำแหน่งนายกสภาประจำสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด

วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545

โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี  เกษมทรัพย์ ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันประจำราชภัฏร้อยเอ็ด

วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย และตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 23 ก ลงวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547

วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2548

อดิศัย  โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 20 ก ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2548 เรื่อง กฎกระทรวงจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2548 ประกอบด้วยสำนักงานอธิการบดี และคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์

วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549

จาตุรงค์  ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 74 ง  ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2549 เรื่อง ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด พ.ศ. 2549 ประกอบไปด้วย สำนักงานอธิการบดี แบ่งส่วนราชการเป็นกองกลาง และกองนโยบายและแผน    คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แบ่งส่วนราชการเป็นสำนักงานคณบดี ภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


ทำเนียบนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

นายกสภาสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด

1. ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์เริ่ม พ.ศ. 2545 สิ้นสุด พ.ศ. 2547

นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

2. ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์เริ่ม พ.ศ. 2548สิ้นสุด พ.ศ. 2550
เริ่ม พ.ศ. 2551สิ้นสุด พ.ศ. 2554
3. ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมพร โพธินามเริ่ม พ.ศ. 2555สิ้นสุด พ.ศ. 2559
4. ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สมพร โพธินามเริ่ม พ.ศ. 2559สิ้นสุด พ.ศ. 2565
5. ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุเริ่ม พ.ศ. 2566ปัจจุบัน

ทำาเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

อธิการบดีสถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด

1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลย ภูมิพันธุ์เริ่ม พ.ศ. 2545สิ้นสุด พ.ศ. 2547

อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลย ภูมิพันธุ์ เริ่ม พ.ศ. 2547สิ้นสุด พ.ศ. 2551
เริ่ม พ.ศ. 2551สิ้นสุด พ.ศ. 2555
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดุสิต อุบลเลิศเริ่ม พ.ศ. 2556สิ้นสุด พ.ศ. 2560
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เฉลย ภูมิพันธุ์เริ่ม พ.ศ. 2560สิ้นสุด พ.ศ. 2564

รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

1. ดร.สถาพร มงคลศรีสวัสดิ์เริ่ม 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555สิ้นสุด 30 มกราคม พ.ศ. 2556
2. ดร.วิชิต กำมันตะคุณเริ่ม 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560สิ้นสุด 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
3. ดร.เกรียงศักดิ์ ศรีสมบัติเริ่ม 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2560สิ้นสุด 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560
4.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชิต กำมันตะคุณเริ่ม 10 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ดำเนินการจัดการศึกษา ดังนี้

  1. คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
  2. คณะครุศาสตร์
  3. คณะนิติรัฐศาสตร์
  4. คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี
  5. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
  6. คณะพยาบาลศาสตร์
  7. บัณฑิตวิทยาลัย
  8. โครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารราชการ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

ปี พ.ศ. 2566 มีการประกาศจากสภามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด เรื่อง การยุบยกเลิกงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ้ด พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2566 มีการประกาศยุบยกเลิกส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ดังต่อไปนี้ (…. หรือ ดูรายเอกสารประกาศที่นี่ ….)

1. คณะครุศาสตร์ ให้โอนบรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระผูกพันทั้งปวง และบุคลากร
ไปยังส่วนราชการใหม่ในสังกัด “คณะครุศาสตร์และการพัฒนามนุษย์”

2. สำนักวิชาการและประมวลผล ให้โอนบรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระผูกพันทั้งปวง และบุคลากร
ไปยังส่วนราชการใหม่ในสังกัด “สำนักส่งเสริมวิชาการและการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

3. สำนักกิจการนักศึกษา ให้โอนบรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระผูกพันทั้งปวง และบุคลากร
ไปยังส่วนราชการใหม่ในสังกัด “สำนักส่งเสริมวิชาการและการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

4. สถาบันวิจัยและพัฒนา ให้โอนบรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระผูกพันทั้งปวง และบุคลากร
ไปยังส่วนราชการใหม่ในสังกัด “สำนักส่งเสริมวิชาการและการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

5. สถาบันจัดการความรู้ ให้โอนบรรดางบประมาณ ทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระผูกพันทั้งปวง และบุคลากร
ไปยังส่วนราชการใหม่ในสังกัด “สำนักส่งเสริมวิชาการและการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต”